News

น่าเสียดาย ศูนย์เด็กเล็ก งบกว่า 2 ล้าน สร้าง 6 ปีถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีเด็กมาเรียนแม้แต่คนเดียว

น่าเสียดาย ศูนย์เด็กเล็ก งบกว่า 2 ล้าน สร้าง 6 ปีถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีเด็กมาเรียนแม้แต่คนเดียว

น่าเสียดาย ศูนย์เด็กเล็ก งบกว่า 2 ล้าน สร้าง 6 ปีถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีเด็กมาเรียนแม้แต่คนเดียว เตรียมแก้ไขปัญหา ถ้ายังไม่มีใครมาเรียน อาจต้องใช้ประโยชน์อย่างอื่น

วันที่ 15 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอำปึล หมู่ 15 ต.สะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พร้อม นายสุภณัฐ ศิริทอง ผอ.กลุ่มงานกฎหมายระเบียบและเรื่องร้องทุกข์ สนง.ส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จ.สุรินทร์ นายวินัย ดาสั่ว นายก อบต.สะกาด, ตัวแทนนายอำเภอสังขะ พร้อมด้วยส่วนงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนในพื้นที่หมู่ 6, หมู่ 15

หลังเพจปฏิบัติการณ์หมาเฝ้าบ้าน ได้โพสต์ภาพระบุข้อความว่า “ศูนย์เด็กเล็กบ้านอำปิล” ปี 61 อบต.สะกาด จ.สุรินทร์ ใช้เงิน 1,798,000 บาทสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ขนาดไม่เกิน 50 คน สร้างเสร็จยังไม่เปิดใช้ ผ่านมาสองปีทำรั้วเพิ่มอีกสามแสนสอง อาคารมีแล้ว รั้วก็มีแล้ว แต่ไม่เคยเปิดใช้งานเลย สักครั้ง เหตุเพราะใกล้แหล่งน้ำผู้ปกครองเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ปล่อยทิ้งเกือบหกปี ฝ้าหลุดร่วงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของนก

จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณโดยรอบตัวอาคาร ต้นไม้ใบหญ้าขึ้นมาปกคลุมแทบจะเป็นป่า ฝ้าเพดานด้านนอกและในตัวอาคารหลุดร่วงลงมากองกับพื้นบางส่วนก็ห้อยโตงเตงอยู่ นกที่อาศัยอยู่ขับถ่ายมูลลงมาทับถมกองเต็มและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ เนื่องจากขาดการดูแลรักษาและถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน จากการสอบถามข้อมูล ทราบว่า ถูกปล่อยทิ้งร้างมานาน ตั้งแต่ก่อสร้างมาเมื่อปี 61 ยังไม่ได้เปิดการเรียนการสอน เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองส่งบุตรหลานมาเรียน เพราะกลัวไม่ปลอดภัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

ซึ่งสถานที่ก่อสร้างจริงๆ ตามที่มีมติในที่ประชุมตกลงกันคือ จะต้องก่อสร้างที่บ้านอำปึล หมู่ 6 ที่เป็นแห่งชุมชน ไม่ใช่บ้านอำปึล หมู่ 15 ที่อยู่ห่างชุมชนและเป็นหมู่บ้านท้ายสุดติดกับตำบลอื่น และยังข้องใจว่าทำไมถึงได้โยกเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างและไม่มีใครทราบอีกด้วย

นายวินัย นายก อบต.สะกาด กล่าวว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งหลังจากโครงนี้ ตามที่ได้ทราบจากข้อมูลเดิมวัตถุประสงค์ของหมู่บ้านคือต้องการให้สร้างที่บ้านอำปึล หมู่ 6 ได้ประชุมกันทาง ส.อบต. ผู้และใหญ่บ้านในสมัยนั้น ก็ได้ประชุมร่วมกันกับชาวบ้าน ภายหลังอาจจะเกิดปัญหาว่าถ้าสร้างตรงนั้นจะไม่เหมาะสมเพราะเป็นที่วัด ก็เลยขยับขยายมาอยู่จุดตรงนี้ จากนั้นพอสร้างเสร็จก็เกิดกรณีว่าผู้ปกครองไม่มั่นใจ เพราะว่าสถานที่แห่งนี้ใกล้แหล่งน้ำ ก็เลยไม่มีใครส่งลูกหลานเข้ามาเรียน

อบต.สะกาด ในสมัยนั้นก็ได้แก้ไขเพิ่มเติม โดยการสร้างรั้วขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยและให้ผู้ปกครองเด็กเชื่อมั่น แต่ปรากฏว่าก็ยังเหมือนเดิม จึงไม่มีเด็กมาเรียนตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมา ตอนนี้ กศน. ไม่รู้ว่าเขาจะเข้ามาใช้สถานที่นี่หรือเปล่า เพราะว่าเขาก็อ้างว่ามันไม่เป็นจุดศูนย์กลาง ตอนนี้ก็ต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งตนจะประชุมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้ปกครองนำเด็กเข้ามาเรียนหากปรับปรุงแล้ว ยังไม่มีผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ก็ต้องนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพื่อให้คุ้มกับงบประมาณที่สร้างไป ตอนนี้ก็ต้องไปดูในเรื่องระเบียบกฎหมายด้วยว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง ปล่อยให้รกร้างโดยเปล่าประโยชน์แบบนี้ไม่ได้

ด้าน นายสุภณัฐ กล่าวว่า จากที่ได้เห็นสภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รู้สึกเสียดายงบประมาณ เบื้องต้นพบว่า งบฯ ในการก่อสร้าง 1,798,000 บาท ในปี 2561 ต่อมาในปี 2563 มีการสร้างรั้วเพิ่มเติมอีก 320,000 บาท และในปี 2564 ก็สร้างถนนคอนกรีตเข้ามายังศูนย์แห่งนี้อีก 290,000 บาท รวมงบฯ ทั้งสิ้น 2,408,000 บาท

ในส่วนที่มาก็คือ อบต.สะกาด ได้จัดโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านอำปึล ขนาดจำนวนไม่เกิน 50 คน โดยใช้งบฯมาจากข้อบัญญัติ งบฯประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 สถานที่ก่อสร้างบ้านอำปึลหมู่ 15 ซึ่งแต่เดิมสถานที่ก่อสร้างคือบ้านอำปึล หมู่ 6 ซึ่งย้ายพื้นที่ก่อสร้างเนื่องจากอ้างว่า สภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้าง ก็เลยได้ย้าย พอสร้างเสร็จ ผู้รับจ้างส่งมอบงาน มีการตรวจรับงานจ้างถูกต้อง เบิกจ่ายงบฯแล้ว ปรากฎว่าผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียน

และได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า เนื่องจากอาคารอยู่ติดแหล่งน้ำ ตามที่เราเห็นก็คืออยู่ไม่เกิน 10 เมตร ก็จะเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ผู้ปกครองมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยเด็ก ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่ศูนย์ฯ ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา และต่อมาปี 2563 อบต.เล็งเห็นปัญหาก็เลยสร้างรั้วขึ้นมา พอสร้างรั้วเสร็จผู้ปกครองก็ไม่ส่งบุตรหลานมาอีก ต่อมาในปี 2564 ก็ได้จัดสร้างถนนคอนกรีตทางเข้าเพื่อเติมอีก แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เด็กก็ไม่มาเรียน ตามสภาพที่เห็นถูกปล่อยทิ้งรกร้างตั้งแต่เปิดใช้แล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์

อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากังวล ในการตั้งข้อสังเกตในเรื่องของการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น หรือการจัดทำโครงการที่ต้องระบุอยู่ในแผนพัฒนาท้องถิ่นว่า การจัดทำแผนต้องมาจากความต้องการของประชาชนและความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะจัดทำโครงการ นายกฯ ก็จะระบุโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนต่อสภาฯ เพื่อให้สมาชิกสภาท้องถิ่นพิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากทำเสร็จ กรณีนี้เป็นข้อสังเกตว่าเหตุใดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว เมื่อก่อสร้างเสร็จทำไมผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานมาเรียน หรือขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นหรือความต้องการของประชาชน อบต.ได้ทำถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายแล้วหรือไม่ ส่วนในเรื่องของการก่อสร้าง มีกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง หัวใจของการจัดซื้อจัดจ้างคือให้เป็นประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐสูงสุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าโปร่งใส ตรวจสอบได้

สำหรับการแก้ปัญหาเบื้องต้น ก็ได้ทำความเข้าใจกับผู้บริหาร อบต.สะกาด แล้วว่า ต้องดำเนินการในการแก้ไข หากเห็นว่าจะใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการก็คือเปิดการเรียนการสอนให้กับเด็กก่อนวัยเรียนได้เข้าเรียน ณ ศูนย์ฯ แห่งนี้ ต้องปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่และปรับภูมิทัศน์ให้เอื้อต่อการทำการเรียนการสอน หรือรับฟังความคิดเห็นแล้วสื่อสารกับกับผู้ปกครองแล้ว ยังไม่มีเด็กมาเรียน ก็ต้องพิจารณาว่าจะใช้สถานที่แห่งนี้ทำอะไรเมื่อปรับปรุงแล้ว หรือจะให้หน่วยงานอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์ อย่างที่ผู้ใหญ่บ้านเสนอขอทำเป็นศูนย์ออกกำลังกายประจำหมู่บ้าน จะได้หรือไม่

ทั้งนี้หากตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้ว พบว่าการดำเนินดังกล่าว ผู้บริหารท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือไม่ปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็จะสั่งการมาที่นายอำเภอสังขะ ดำเนินการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับผู้บริหารท้องถิ่น แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น หากพบว่าเจ้าหน้าที่คนใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ก็จะส่งเรื่องให้กับผู้บริหารท้องถิ่น ดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยตามสภาพแห่งความร้ายแรง ซึ่งตามข้อมูลก็ได้รับแจ้งว่าเหตุนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 61 ซึ่งนายก อบต.เข้ามารับตำแหน่งในปัจจุบันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดขึ้นก่อนจะมารับตำแหน่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *